ข้อเท้าพลิก ทำอย่างไร ?

by admin
นักวิ่ง ข้อเท้าพลิก ทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าพลิก หยุดพัก ลดการเคลื่อนไหว หากในขณะนั้นกำลังทำกิจกรรมใด ๆ อยู่ก็ตาม

ข้อเท้าพลิก ทำอย่างไร ?

 

            ภาวะข้อเท้าพลิก หรือ ข้อเท้าแพลง (Ankle Sprain) เป็นอาการบาดเจ็บของเท้าที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากเส้นเอ็นและเนื้อเยื่อบริเวณข้อเท้าเกิดการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน โดยอาจเป็นการฟกช้ำเพียงเล็กน้อยหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเอ็นกล้ามเนื้อฉีกขาด

สาเหตุ

          พบได้ในหลายสถานการณ์แม้กระทั่งเดิน ๆ อยู่ดีแล้วเกิดสะดุด จนทำให้เท้าบิดตัวไปด้านใดด้านหนึ่งออกจากข้อเท้าอย่างรวดเร็ว แต่โดยส่วนใหญ่มักพบได้บ่อยจากอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา การสวมใส่รองเท้าส้นสูง การเดินในพื้นต่างระดับ หรือในผู้สูงอายุที่การทรงตัวไม่ค่อยดีก็จะมีโอกาสเกิดข้อเท้าพลิกได้บ่อย ๆ เช่นกัน

อาการของข้อเท้าแพลง

          อาการของภาวะข้อเท้าพลิกที่พบได้บ่อย คือ อาการแสดงของภาวะการอักเสบของกล้ามเนื้อ นั่นก็คือ  “ปวด บวม แดง ร้อน” ของผิวหนังโดยรอบ  ไปจนถึงร่องรอยฟกช้ำดำเขียว การบาดเจ็บที่เกิดกับเส้นเอ็นบริเวณนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยจะไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้อย่างปกติ เพราะจะรู้สึกเจ็บและเท้าไม่สามารถรับน้ำหนักได้อย่างเคย จึงต้องเดินกะเผรก ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ได้แก่

          ระดับที่ 1 บาดเจ็บเล็กน้อย – มีอาการบวม กดเจ็บ แต่ยังสามารถเดินลงน้ำหนักได้ อาการจะดีขึ้นได้เองภายใน 2 สัปดาห์

          ระดับที่ 2 บาดเจ็บปานกลาง (มีการฉีดขาดของเส้นเอ็นบางส่วน) – มีอาการปวด บวมมากขึ้น จนทำให้ลงน้ำหนักที่เท้าได้ไม่มาก อาการอาจดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์

          ระดับที่ 3 บาดเจ็บรุนแรง (มีการฉีดขาดของเส้นเอ็นทั้งหมด) – มีอาการปวด บวมอย่างรุนแรง และไม่สามารถลงน้ำหนักที่เท้าได้เลย อาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน 6-10 เดือน หรืออาจเกิดการบาดเจ็บเรื้อรังได้มาก

นักวิ่ง ข้อเท้าพลิก ทำอย่างไร วิธีปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าพลิก หยุดพัก ลดการเคลื่อนไหว หากในขณะนั้นกำลังทำกิจกรรมใด ๆ อยู่ก็ตาม

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อ ข้อเท้าพลิก ทำอย่างไร ?

          การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อข้อเท้าพลิก สามารถทำได้โดย

  1. หยุดพัก ลดการเคลื่อนไหว หากในขณะนั้นกำลังทำกิจกรรมใด ๆ อยู่ก็ตาม ให้หยุดและนั่งพักทันที เพราะหากบริเวณที่บาดเจ็บมีการเคลื่อนไหวอยู่จะยิ่งทำให้เลือดไปคั่งบริเวณดั่งกล่าวและเกิดการบวมมากขึ้น และที่สำคัญอาจมีกระดูกบางส่วนที่แตก ดังนั้นจึงไม่ควรเคลื่อนไหว หรือถ้าจำเป็นควรมีคนพยุง หรือใช้เปลสนามเคลื่อนผู้บาดเจ็บออกไป
  2.           ใช้น้ำแข็งหรือเจลประคบเย็น ใน 24 ชั่วโมงแรก ของการเกิดข้อเท้าพลิกให้ประคบด้วยความเย็น เพื่อช่วยให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว ยับยั้งการไหลเวียนไปส่วนที่บาดเจ็บมากจนเกินไปเพราะจะยิ่งทำให้บวมและปวดมากขึ้น หลังจากครบ 24 ชั่วโมงไปแล้ว จึงค่อยประคบด้วยความร้อน
  3. ใช้ผ้าพัน ผ้าที่ใช้พันบริเวณที่เท้าพลิกควรเป็นผ้ายืด (Elastic Bandage) พันแบบพอดี ๆ ไม่แน่นหรือหลวมจนเกินไป วิธีทดสอบง่าย ๆ ว่าพันผ้าแน่นเกินไปหรือไม่สังเกตได้จากว่า มีอาการปวดเพิ่มขึ้น รู้สึกชา ผิวหนังบริเวณอวัยวะที่อยู่ใต้ผ้าพันเย็น ซีด ถ้าหากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบคลายผ้าออกทันที ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้เท้าบวมหนักกว่าเดิม
  4. ยกเท้าให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น หากอยู่ในท่านั่งก็ไม่ควรนั่งห้อยขาแต่ให้ใช้เก้าอี้มารองขาให้ยืดตรงในแนวเดียวกับหัวเข่า กรณีที่อยู่ในท่านอนก็ควรหาหมอนมาหนุนขาข้างที่มีอาการบาดเจ็บให้สูงกว่าระดับหัวใจเล็กน้อย เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปส่วนต่าง ๆ ได้สะดวก ไม่ไปคั่งบริเวณเท้าเพียงที่เดียว
  5. ในกรณีที่ปวดมาก อาจรับประทานยาบรรเทาปวดได้ แต่ควรรับประทานตามคำแนะนำในวิธีการใช้ เพราะการรับประทานยาบรรเทาปวดในขนาดและความถี่ที่มากเกินความจำเป็นก็จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
  6. ห้ามใช้ยานวด หลายคนเข้าใจผิดว่ายานวดชนิดต่าง ๆ จะบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้เร็ว แต่หารู้ไม่ว่าความร้อนจากตัวยาจะยิ่งกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนทำให้ปวดและบวมมากขึ้น หากต้องการจะนวดควรใช้หลังจากเกิดการบาดเจ็บครบ 24-48 ชั่วโมงไปแล้ว
  7. หากพบว่ามีอาการปวดบวมอย่างหนัก ประกอบกับมีอาการผิดรูปของกระดูก หรือไม่สามารถขยับนิ้วเท้าได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอย่างละเอียดโดยทันที

          และทั้งหมดนี้ก็คือการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการข้อเท้าพลิก แต่อย่างไรก็ตามควรป้องกันการเกิดข้อเท้าพลิกโดยการเลือกใส่รองเท้าที่ถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเท้า ระมัดระวังในการเดิน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะการบาดเจ็บของข้อเท้าที่รุนแรงอาจนำไปสู่การบาดเจ็บแบบเรื้อรังได้


กิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

You may also like

Leave a Comment