สร้างนิสัยใหม่ ให้ออกกำลังกายได้เป็นประจำ
ใครกำลังประสบปัญหา อยากหุ่นสวย สุขภาพดี แต่มีนิสัยขี้เกียจออกกำลังกายกันบ้างคะ วันนี้เรามี เคล็ดลับการเปลี่ยนนิสัยผัดวันประกันพรุ่งให้กลายเป็นคนรักการออกกำลังกาย โดยเทคนิคการปรับพฤติกรรม ต้องใช้หลักทฤษฎีการเรียนรู้ (Learning Theory) ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของการเปลี่ยนพฤติกรรมคือการ สร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ จะมีวิธีไหนกันบ้างไปดูกันเลย
- วิเคราะห์พฤติกรรมที่ต้องปรับ
ก่อนอื่นต้องมาคิดวิเคราะห์กันสักนิดว่า อะไรกันนะที่ทำให้เราไม่ออกกำลังกายหรือไม่สามารถ
ออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุผลก็มีได้มากมาย เช่น
- ออกกำลังกายไปก็ไม่เห็นผลลัพธ์สักที
- ไม่มีเวลา
- เหนื่อย
- ไม่รู้จะไปออกกำลังกายที่ไหนดี
- ไม่มีเพื่อน
- ขี้เกียจ
- ฯลฯ
คราวนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าแต่ละเหตุผลก็ต้องใช้วิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด
หากพิจารณาโดยแท้จริงแล้วส่วนใหญ่ก็จะพบว่าที่เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ ๆ ได้สำเร็จ มักเกิดจาก
1.1 การขาดเป้าหมาย เพราะเมื่อคุณไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนมันจะทำให้เราขาดแรงผลักดันในการทำสิ่งนั้น ๆ ให้สำเร็จ
1.2 เป้าหมายสูงเกินไป บ่อยครั้งที่เราตั้งเป้าหมายไว้เกินความจริงที่จะสามารถทำให้สำเร็จได้ง่ายในระยะเวลาสั้น ๆ ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ และล้มเลิกความตั้งใจไปเสียก่อน รวมถึงการตั้งเป้าหมายที่สูงเกินไปยังทำให้เราเครียดจนรู้สึกไม่อยากลงมือทำมัน
- ตั้งเป้าหมายที่เหมาะสมในการปรับพฤติกรรม
การตั้งเป้าหมายในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิต ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสให้เราประสบความสำเร็จได้ เพราะเมื่อเราตระหนักถึงเป้าหมายที่เราจะเริ่มมองเห็นวิธีการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างแน่ยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเป้าหมายนั้นควรเป็นเป้าหมายที่ดี และมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรมีลักษณะดังนี้
2.1 ระบุเป้าหมายได้อย่างชัดเจน (Specific) เช่น จะออกกำลังให้ได้อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์, จะลดน้ำหนักให้ได้ 1 กิโลกรัม ใน 1 เดือน เป็นต้น โดยเป้าหมายต้องเป็นรูปธรรม วัดและประเมินผลได้ชัดเจน โดยวิธีที่ดีที่สุดในการวัดผลก็คือ ตัวเลข เพื่อที่คุณจะสามารถทำเป้าหมายให้สำเร็จได้
2.2 เป็นจริงได้ (Realistic) หลายคนอาจคิดว่าการตั้งเป้าหมายไว้สูง ๆ เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เรามีแรงฮึด แต่แท้จริงแล้วความเชื่อนี้อาจถูกเพียงครึ่งหนึ่ง เพราะหากตั้งเป้าหมายไกลเกินความจริงมากไป สมองจะสั่งการว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องยากทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและหลีกเลี่ยงที่จะทำทันที ดังนั้นตั้งเป้าให้เล็กลง เพื่อทำให้สำเร็จเสียก่อนแล้วค่อยตั้งเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เริ่มได้จาก “ก้าวเล็ก ๆ”
2.3 ต้องกำหนดเวลาชัดเจน (Time based) การตั้งเป้าหมายที่ดีต้องมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจน ว่าจะเริ่มและสิ้นสุดเมื่อไร เพราะการทำไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีระยะเวลาคอยกำหนด ก็จะทำให้เราขาดพลังดึงดูด ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น เมื่อถูกมอบหมายงานมาเป็นสัปดาห์แต่ก็ไม่ยอมลงมือทำสักที มาลงมือทำเอาวันสุดท้ายก่อนถึงกำหนดส่ง เป็นต้น
- ติดตามความก้าวหน้า
ควรประเมินความก้าวหน้าในการลงมือเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นระยะ เช่น ดูว่าเป้าหมายที่จะออกกำลังกาย อย่างน้อย 3-5 วัน/สัปดาห์ มาจนถึงวันนี้ทำได้กี่วันแล้ว อาจทำให้ความห้าวหน้าเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นโดยการขีดปฏิทิน สะสมแต้ม เหมือนการสะสมแสตมป์ในร้านสะดวกซื้อ เพื่อกระตุ้นให้เราอย่างพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
- ให้รางวัลความสำเร็จ
หมั่นให้รางวัลตัวเองเมื่อตัวเองเริ่มเปลี่ยนแปลงได้ทีละน้อยแม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายก็ตาม แต่สิ่งแรกก็คือต้องมองเห็นความสำเร็จตัวเองให้ได้เสียก่อนแม้ความสำเร็จนั้นจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เช่น วันนี้วิ่งได้มากกว่าเมื่อวาน 1 กิโลเมตร, วันนี้ออกกำลังกายได้นานขึ้น 10 นาที การให้รางวัลกับตัวเองทำได้ตั้งแต่ การชื่นชมตัวเอง การให้รางวัลตัวเองซึ่งเป็นรางวัลที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เช่น รองเท้าวิ่งคู่ใหม่ ขวดน้ำคู่ใจสำหรับพกไปออกกำลังกาย ฯลฯ
แต่การเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อสร้างนิสัยรักการออกกำลังกายได้เป็นประจำ เป็นเรื่องของวินัยและการควบคุมตัวเอง ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกฝนและทำอย่างสม่ำเสมอ อังนั้นอย่าคาดหวังความเพอร์เฟ็คใด ๆ ขอแค่ทำแต่ละวันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เพียงพอแล้ว
สร้างนิสัยใหม่ ให้ออกกำลังกายได้เป็นประจำ
#สร้างนิสัยใหม่ ให้ออกกำลังกายได้เป็นประจำ